วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ระดับวิชาชีพ HR ปั้น PMAT บริการครบวงจร

ฉัตรพงษ์ วงษ์สุข ลุยยกระดับวิชาชีพ HR ปั้น PMAT บริการครบวงจร 

 ต้องยอมรับว่าชั่วโมงนี้ HR (human resource) มืออาชีพนั้นไม่ใช่หากันง่ายนัก แต่องค์กรธุรกิจต่างก็แสวงหา HR ไปร่วมวางกลยุทธ์พัฒนาทุนมนุษย์ให้ร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมาย "วันนี้ทุกองค์กรต้องมีผู้ทำหน้าที่ HR โดยตรง ไม่ใช่เอาไปฝากไว้กับแผนกใดแผนกหนึ่ง หรือฝากไว้กับคนใดคนหนึ่งในบริษัทเช่นในอดีตที่ผ่านมา เพราะเรื่องของการพัฒนาบุคลากรถือเป็นองค์ประกอบที่มีนัยสำคัญในการชี้ขาดความสำเร็จหรือความล้มเหลวขององค์กร" 
 "ฉัตรพงษ์ วงษ์สุข" ในฐานะนายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) และ ผู้จัดการฝ่ายวางแผนและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ บริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ผู้คลุกคลีในวงการนี้มานาน ชี้ให้เห็นความสำคัญของ HR ยุคใหม่และขณะนี้มีผู้ที่ประกอบวิชาชีพ HR เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่บริบทหรือเนื้อหาของงานด้าน HR ได้มีการพัฒนารูปแบบที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นที่นำมาปฏิบัติกันอย่างเข้มแข็ง นั่นคือ HR เชิงกลยุทธ์ ! "การเปลี่ยนผ่านยุคสมัยของ HR จากฝ่ายสนับสนุนมาเป็นฝ่ายปฏิบัติ ยืนแถวหน้าร่วมกับฝ่ายบริหารขององค์กร ทำให้ผู้ที่ทำหน้าที่ HR ต้องเร่งพัฒนาตัวเอง เรียนรู้ฟังก์ชันใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม แต่อย่างไรก็ตาม การรับสิ่งใหม่ๆ จากต่างประเทศ ต่างพื้นที่ ต่างวัฒนธรรม บางครั้งก่อนที่จะนำไปใช้ในระยะแรกอาจจะต้องให้เวลากับการปรับตัวขององค์กรเพื่อทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ก่อน เรียกว่า HR จะต้องทำหน้าที่ในการเจียระไนกลยุทธ์ต่างๆ ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมขององค์กรมากที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง" ในปัจจุบันองค์กรใหญ่ๆ จึงสนับสนุนให้พนักงานหรือผู้ประกอบวิชาชีพ HR ไปอบรมในหลักสูตรต่างๆ เพื่อนำมาปรับใช้สร้างความสำเร็จให้กับองค์กร การควบคุมปัจจัยเรื่องคนถือเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนกระบวนการทำงานขององค์กรไปสู่ความสำเร็จ แต่ก่อนที่จะไปถึงขั้นตอนนั้น ในเบื้องต้นองค์กรจะต้องมีกระบวนการขับเคลื่อนภายในให้คนที่สมรรถนะที่ดี ได้รับการดูแลทั้งด้านองค์ความรู้และเรื่องของสุขภาพกายและจิตใจ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าคนจะไปช่วยผลักดันให้กระบวนการต่างๆ เคลื่อนไปได้ หรือพูดภาษาชาวบ้าน เสริมสร้างยุทธวิธีที่จะไปหมุนเฟืองของการทำงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นหลักประกันว่าเป้าหมายสุดท้ายคือเรื่องของผลกำไรจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้และคุณสมบัติของ HR ยุคใหม่ก็แตกต่างจากในอดีต "สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจในธุรกิจของตัวเองก่อน ต้องรู้ว่าธุรกิจที่ทำอยู่มีกระบวนการค้าขายอย่างไร เป้าหมายสูงสุดขององค์กรคืออะไร จะทำอย่างไรจึงจะบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กรได้ ระบบบัญชีเป็นอย่างไร ระบบบริหารงานภายในเป็นอย่างไร และต้องเปิดกว้างรับรู้ความเคลื่อนไหวของโลกภายนอกด้วย" HR มืออาชีพจะต้องคิด วิเคราะห์หรือมีความรู้เชิงกลยุทธ์ที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นระบบงาน เทคโนโลยี สังคม หรือโลกของธุรกิจ เรียกว่า HR จะต้องเป็นผู้นำ สามารถปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีของคนในองค์กรได้ "และคุณสมบัติที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับ HR มืออาชีพคือ จะต้องมีความสามารถในการสื่อข้อความ ทำให้คนในองค์กรยอมรับกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีความหมายที่ค่อนข้างลึกกว่าคำว่าการประชาสัมพันธ์ การทำให้คนรับรู้ แต่หมายถึงผู้รับต้องเข้าใจในข้อความหรือสิ่งที่ผู้สื่อต้องการให้เข้าใจด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ยาก" ทั้งหมดเรียกว่า inter personal skill PMAT ในฐานะสมาคมวิชาชีพ ในปี 2550 จึงต้องเน้นไปที่การให้บริการในรูปแบบที่ครบวงจรมากยิ่งขึ้นเท่าที่องค์กรวิชาชีพจะปฏิบัติกัน เรื่องแรกคงต้องสานต่อแผนงานในการสร้างระบบสมรรถนะของผู้ประกอบวิชาชีพ HR หรือ HR competency เพื่อยกวิชาชีพ HR ให้มีมาตรฐานเหมือนกับวิชา
ชีพอื่นๆ ที่ได้มีการพัฒนาระบบไปบ้างแล้วในรอบปีที่ผ่านมา ปีนี้จะมีการพัฒนาต่อเนื่องทั้งเรื่องขั้นตอนการประเมิน การออกใบรับรอง โดยคนที่ต้องการใบรับรองจาก PMAT ในเบื้องต้นอาจจะต้องเข้ามาอบรม จากนั้นก็มีการทดสอบ การประเมิน จากนั้นสมาคมจึงจะออกใบรับรองให้ในลักษณะปีต่อปี คล้ายๆ กับวิชาชีพวิศวกรรม หรือผู้ตรวจสอบบัญชี กระบวนการรับรองจะมี 3 ระดับ สำหรับผู้ที่จบใหม่แล้วเข้ามาในวิชาชีพ HR เรียกว่า personal พอทำงานไปสักระยะหนึ่งอาจจะขอสอบยกระดับเป็น professional HR (PHR) พอมีความรู้ ความเชี่ยวชาญมากขึ้นก็ยกระดับเป็น senior professional HR (SPHR) เรื่องที่สองที่ PMAT ต้องเร่งดำเนินการในปีนี้คือ การพัฒนาภารกิจหลักในด้านการบริการให้คำปรึกษาด้าน HR ต้องทำอย่างเข้มแข็งขึ้น สำหรับสิ่งที่จะต้องเน้นไปพร้อมๆ กับการพัฒนาวิชาชีพคือ การทำวิจัยด้าน HR โดยจะจับมือกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ แล้วนำผลวิจัยออกเผยแพร่ เพื่อเปิดองค์ความรู้ให้กับสาธารณชน นอกจากนั้น ยังมีโครงการจับมือกับเครือข่ายต่างๆ ในต่างจังหวัดด้วย ไม่ว่าเป็นสถาบันการศึกษา ชมรม สมาคมต่างๆ เกี่ยวกับวิชาชีพ HR ที่มีการรวมตัวกันจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพ HR ได้พัฒนาไปพร้อมๆ กันทั้งประเทศ ในต่างประเทศ โดยส่วนตัวได้เข้าไปเป็นกรรมการบริหาร Asia-Pacific Federation of Human Resource Management (APFHRM) ตรงนี้จะช่วยในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับต่างประเทศ บางครั้งอาจจะเชิญผู้เชี่ยวชาญด้าน HR จากต่างประเทศมาบรรยายให้คนไทยฟัง บางครั้งก็ส่งบุคลากรของไทยไปบรรยายในต่างประเทศ เรียกว่า knowledge chairing ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมาได้พาสมาชิกของ PMAT บางส่วนไปร่วมสัมมนาที่ประเทศสิงคโปร์ ปีนี้ก็เตรียมการไปสัมมนาที่อเมริกา "แนวโน้มการพัฒนาองค์กรยุคใหม่จะไปใน ทิศทางเดียวกันหมด คือทำอย่างไรจึงจะใช้คนน้อยๆ แต่ให้ได้งานเยอะๆ ดังนั้น จึงต้องกลับไปที่สมรรถนะของคนทำงานที่องค์กรต้องการนั้น จะต้องมีอะไรบ้าง เริ่มต้นจากขั้นตอนแรก คือการคัดเลือกบุคลากรเข้าทำงาน" ในอดีตคำว่าสมรรถนะที่ดีอาจหมายถึง คนดี คนเก่ง มีภาวะผู้นำ มีความสามารถในการตัดสินใจ มีความสามารถในการสื่อสาร มีความสามารถในการแสดงออก แต่ชั่วโมงนี้ คำว่า "คนดี" เริ่มมาแรง ดังนั้น จึงต้องลงในรายละเอียดเรื่องคนดีที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น นอกจากความรับผิดชอบ ความสุจริต ยังต้องมีความซื่อสัตย์ ซึ่งอาจจะไม่ใช่แค่ถูกกฎหมายอย่างเดียวแต่ต้องถูกหลักศีลธรรมที่ดีงาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น