วันอังคารที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2555

วิธีการในการประเมินโครงการฝึกอบรม

การประเมินผลงานฝึกอบรม : วิธีการในการประเมินโครงการฝึกอบรม

ปัจจุบันมีผู้ให้ความสำคัญและความสนใจในการติดตามและตรวจสอบผลการฝึกอบรมมากว่าในอดีต เนื่องจากความตื่นตัวของผู้บริหารที่จะต้องบริหารองค์กรให้ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนการปรับโครงสร้างการบริหารงานให้มีการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างเกิดผลสูงสุด ทำให้มีผู้พัฒนาเทคนิคและวิธีการประเมินโครงการฝึกอบรมออกมาหลายรูปแบบ โดยที่เราจะกล่าวถึงแนวทางหรือวิธีการในการประเมินโครงการฝึกอบรมที่นิยมใช้งาน ต่อไปนี้         วิธีการของ Kirkpatrick                 เป็นแนวความคิดสำคัญในการประเมินการฝึกอบรม ที่ได้รับการยอมรับและความนิยมมาจากองค์กรต่างๆโดย Kirkpatrick กล่าวว่าผู้ประเมินควรจะเก็บข้อมูล 4 ระดับ และตั้งคำถามที่ควรถาม ดังต่อไปนี้
      1.1 ปฏิกิริยา  (Reaction) หมายถึงสิ่งต่างๆ ที่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีปฏิกิริยาต่อโครงการฝึกอบรม เช่น วัสดุ เครื่องมือ ระยะเวลา วิทยากร สิ่งอำนวยความสะดวก เนื้อหาสาระ และอื่นๆ แต่ไม่รวมวิธีการวัดการเรียนรู้ เนื่องจากปฏิกิริยาของผู้เข้ารับการอบรมจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่กำหนดว่า โครงการควรจะดำเนินการต่อไปหรือไม่ การประเมินปฏิกิริยาจะช่วยให้ผู้ประเมินทราบถึงปฏิกิริยาของผู้เข้าร่วมการอบรมทั้งหมด หรือส่วนใหญ่ที่ตอบแบบสอบถาม ทำให้มองเห็นความรู้สึกของกลุ่มผู้เข้าอบรมที่มีต่อโครงการ และลดปัญหาอันเกิดจากการใช้คำวิจารณ์จากผู้รับการอบรมเพียงไม่กี่คนเกี่ยวกับโครงการ นอกจากนี้ถ้าเจ้าของโครงการฝึกอบรมหรือผู้บริหารคิดว่าข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามปฏิกิริยา (Reaction Questionnaire) เพียงพอ ก็ไม่จำเป็นต้องประเมินผลถึงขั้นสัมฤทธิผลของการเรียนรู้
   1.2  การเรียนรู้ (Learning) จะเกี่ยวข้องกับการวัดผลการเรียนรู้หลักการ ข้อเท็จจริง เทคนิค และทักษะที่กำหนดไว้ในโครงการ ซึ่งวัดได้ยากกว่าปฏิกิริยาต่อโครงการ โดยจัดทำมาตรวัดวัตถุประสงค์ (Objective) และเป็นดัชนีเชิงปริมาณ (Quantifiable Indicators)  ที่ชี้ให้เห็นว่าผู้เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมเข้าใจและเรียนรู้เนื้อหาสาระต่างๆของหลักสูตรได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งมาตรวัดดังกล่าวไม่จำเป็นจะต้องเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ในงานโดยตรง มาตรวัดการเรียนรู้มีหลายชนิด เช่น การทดสอบด้วย ดินสอ ปากกา เส้นโค้งการเรียนรู้ ทักษะการปฏิบัติ การจำลองสถานการณ์ (Job Simulation)  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของโครงการ
   1.3  พฤติกรรม (Behavior) หมายถึง มาตรวัดการปฏิบัติหน้าที่ (Job Performance) เนื่องจากปฏิกิริยาที่ดีต่อโครงการมิได้หมายถึงการเรียนรู้ และผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้มิได้หมายถึงพฤติกรรมที่ดีขึ้นหรือเป็นที่ต้องการในการทำงาน ยังมีปัจจัยต่างๆอีกที่นอกเหนือจากโครงการฝึกอบรมที่มีผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงาน ซึ่งการประเมินพฤติกรรมจะครอบคลุมถึงสิ่งต่างๆต่อไปนี้               1.     การเปรียบเทียบก่อนและหลัง (Before – and – After Comparisons)               2.     การสังเกตจากพฤติกรรมโดยผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชาและเพื่อร่วมงาน               3.     การเปรียบเทียบเชิงสถิติ (Statistic Comparisons)               4.     การติดตามช่วงระยะยาว (Long – Range Follow – ups)
   1.4  ผลลัพธ์ (Outcomes) จะนำมาใช้เพื่อเชื่อมโยงผลการของโครงการฝึกอบรมเข้ากับการปรับปรุงองค์กร (Organizational Improvement) โดยผลลัพธ์บางอย่างอาจวัดได้จากการลดต้นทุน (Cost Saving) เนื้อของผลงานที่เพิ่มขึ้น และคุณภาพของงานที่เปลี่ยนไป ซึ่งต้องอาศัยการเก็บข้อมูลก่อนและหลังโครงการ และวิเคราะห์การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในการประเมินดังกล่าวผู้ประเมินจะต้องพยายามทุกทางที่จะต้องระบุแยกตัวแปรอื่นที่อาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และนำตัวแปรเหล่านั้นเข้ามาพิจารณาในการวิเคราะห์ประเมินผลโครงการฝึกอบรมด้วย

อ้างอิง : การประเมินผลงานฝึกอบรม   โดย  : ดร. ณัฎฐพงษ์ เขจรนันทน์          

1 ความคิดเห็น: